Skip to main content

รายชื่อ ปลากัดป่า(แท้)ในประเทศไทย มีกี่ชนิด กี่สายพันธุ์?

5star

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

ปลากัดป่าไทย ปลากัดพื้นเมือง กลุ่มก่อหวอดของไทย 5 ชนิด ปลากัดป่ากลาง, ปลากัดป่าอีสาน, ปลากัดป่ามหาชัย, ปลากัดป่าตะวันออก, ปลากัดป่าใต้ 

ปลากัดป่าไทย

ปลากัดป่าไทย

ปลากัดสวยงามหลากหลายสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยมเลี้ยงในปัจจุบัน เกิดจากภูมิปัญญาไทยของคนในอดีตที่นำปลากัดป่ามาเพาะเลี้ยง แล้วสังเกตเห็นว่า มีปลากัดบางตัวมีลักษณะแตกต่างไป เช่น รูปร่างลำตัวล่ำหนา (ปลากัดหม้อ) หางยาวมาก (ปลากัดจีน) หางแผ่บานใหญ่ขึ้นกว่าเดิม (ปลากัดฮาฟมูน) จึงคัดเลือกปลากัดเหล่านั้นมาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ โดยนำมาผสมพันธุ์แล้วคัดเลือกลักษณะตามต้องการ นำลูกที่ได้มาผสมและไขว้กลับไม่ให้เลือดชิด ทำให้ได้ปลากัดสวยงามสายพันธุ์ต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งล้วนเป็นปลากัดที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์มาจากปลากัดป่าสายพันธุ์ดั้งเดิมนั่นเอง

ปลากัดป่าเมื่ออยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ในสภาวะปกติมักจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนๆ ซีดๆ เมื่อคนช้อนจับขึ้นมาใหม่ๆ ยกขึ้นมาจากน้ำ ปลาจะมีสีเข้มนิดหน่อย แต่เมื่อนำปลากัดป่าใส่ในน้ำ มักจะถอดสี ซะจนแทบไม่รู้ว่านี่คือปลากัด แต่เมื่อนำไปเลี้ยงใส่โหล เมื่อปล่อยให้ปลากัดป่าได้ปรับตัวคุ้นเคยกับสถานที่เลี้ยงได้แล้ว เมื่อเปิดให้เห็นปลากัดอีกตัว ก็จะหวงถิ่นที่อยู่อาศัย จากสีที่ซีดๆ ก็จะสีเข้มขึ้นเป็น เขียว แดง ส้ม หรือมากกว่านั้น สวยงามมาก และนี่คือเสน่ห์ของปลากัดป่า

การจำแนกทางอนุกรมวิธานของปลากัดป่า

  • Kingdom: Animalia
  • Phylum: Chordata
  • Superclass: Osteichthyes
  • Class: Actinopterygii
  • Subclass: Neopterygii
  • Infraclass: Teleostei
  • Superorder: Acanthopterygii
  • Order: Anabantiformes (Perciformes)
  • Suborder: Anabantoidei
  • Family: Osphronemidae
  • Subfamily: Macropodusinae (Macropodinae)
  • Genus: Betta

สายพันธุ์ปลากัดป่าแท้ของไทย มีกี่ชนิด มีกี่สายพันธุ์

ปลากัดป่าของไทยเป็นปลาในสกุล Betta เป็นปลากัดป่าขนาดเล็ก ซึ่งมีการจำแนกชนิดแล้วในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีทั้งหมดประมาณ 55 ชนิด (Schindler and Schmidt, 2006) สำหรับปลากัดป่าในสกุล Betta ที่ค้นพบในประเทศไทย จากการสำรวจชีววิทยาและสายพันธุ์ของปลากัดในประเทศไทย สามารถแบ่งปลากัดป่าได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ปลากัดป่า กลุ่มก่อหวอด (Bubble-nest builder) และปลากัดป่า กลุ่มเลี้ยงลูกในปาก (Mouth brooder)

ปลากัดป่า กลุ่มก่อหวอด ที่ถูกจับมาจากธรรมชาติเหล่านี้ บางคนเรียกว่า ปลากัดป่า, ปลากัดลูกทุ่ง หรือ ปลากัดลูกช้อน ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจและตรวจสอบจนถึงปัจจุบันโดยทีมวิจัย พบว่า ปลากัดป่าในกลุ่มก่อหวอด ที่พบในประเทศไทยที่ถูกค้นพบแล้วอย่างน้อย 5 ชนิด คือ 1. ปลากัดป่าภาคกลาง (Betta splendens),  2. ปลากัดป่าภาคอีสาน (Betta smaragdina), 3. ปลากัดป่าภาคใต้ (Betta imbellis) 4. ปลากัดป่ามหาชัย (Betta mahachaiensis) และ 5. ปลากัดป่าภาคตะวันออก (Betta siamorientalis)

ซึ่งปลากัดป่า 3 ชนิดแรกนี้เป็นผลงานวิจัยและตีพิมพ์โดยนักมีนวิทยาชาวต่างชาติ ส่วนปลากัดป่าอีก 2 ชนิดใหม่ล่าสุด คือ ปลากัดป่ามหาชัย (Betta mahachaiensis) และ ปลากัดป่าภาคตะวันออก (Betta siamorientalis) ได้รับการพิสูจน์และยืนยัน ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์โดยทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล ไปเมื่อปี 2012 ที่ผ่านมานี่เอง

1. ปลากัดป่าภาคกลาง (ปลากัดป่ากลาง, ปลากัดป่าเหนือ, ปลากัดป่าแก้มแดง)

ปลากัดป่าภาคกลาง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens Regan, 1910 (ถูกค้นพบในประเทศไทย ตั้งแต่ 1910) มีชื่อเรียกตามท้องถิ่น อีกหลายชื่อ เช่น ปลากัดป่าแก้มแดง, ปลากัดป่ากลาง, ปลากัดป่าเหนือ, ปลากัดไทย, ปลากัดลูกทุ่ง เป็นต้น และมีชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) ว่า Siamese fighting fish หรือ Siamese Betta

ปลากัดป่าภาคกลาง ถือว่าเป็นปลากัดป่าที่ค้นพบมาก่อนใคร จึงเป็นสายพันธุ์ปลากัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และได้ถูกนำไปพัฒนาสายพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์จนเกิดเป็นปลากัดสวยงามรูปแบบต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งได้รับความนิยมและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

วิธีดูปลากัดป่าภาคกลาง มีลักษณะเด่นคือ ก้านครีบหางเป็นสีแดง สีพื้นด้านในมีสีเขียว ด้านนอกของขอบมีสีแดง ที่ปลายครีบหางตัดขอบสีดำ จะพบได้ทั้งหางพัดและหางโพธิ์ สีของลำตัวเวลาขึ้นสีลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลแดงไปถึงแดงสด สีของเกล็ดวาวเหลือบเขียวอมเหลืองหรือน้ำเงินอมม่วง ชายน้ำเส้นก้านครีบเป็นสีแดง จะมีสีเหลือบเขียวอมเหลือง บ้างก็มีน้ำเงินอมม่วงแล้วแต่แหล่งแต่ละที่ ตะเกียบมีสีแดงตัดขอบสีดำ ปลายตะเกียบสีขาว บริเวณแก้มมีขีดแนวตั้งเป็นสีแดง 2 ขีด จึงนิยมเรียกอีกชื่อว่า ปลากัดป่าแก้มแดง

จากการเก็บตัวอย่างปลากัดป่าโดยทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่กว่า 70 จังหวัด ตั้งแต่ปี 2550 ถึง 2555 พบว่า ปลากัดป่าภาคกลาง อาศัยอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง ที่มีน้ำนิ่งหรือมีน้ำไหลเอื่อยๆ  และมีการกระจายพันธุ์ในประเทศไทย ตั้งแต่ภาคเหนือไล่ตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาพาดผ่านภาคกลางมาจรดกรุงเทพฯ จังหวัดสมุทรสาครบางส่วน ภาคตะวันออกตอนล่าง (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด) ภาคตะวันตก และภาคใต้ตอนบน (ระนอง ชุมพร สุราษฎร์ธานี และพังงา) นอกจากนี้ ยังพบได้ในประเทศพม่า และกัมพูชาบางส่วน

2. ปลากัดป่าภาคอีสาน (ปลากัดป่าอีสาน, ปลากัดป่าหางลาย, ปลากัดป่ากีต้าร์)

ปลากัดป่าภาคอีสาน มีชื่อเรียกอื่นอีกว่า ปลากัดป่าอีสาน, ปลากัดเขียว, ปลากัดป่าหางลาย, ปลากัดป่ากีต้าร์ และมีชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) ว่า Mekong Fighting fish, Blue betta, Emerald green betta, Smaragd Fighting Fish

ปลากัดป่าภาคอีสาน เป็นปลากัดป่ากลุ่มก่อหวอดของไทย ชนิดที่ 2 ที่ถูกค้นพบและตีพิมพ์โดยชาวเยอรมัน โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta smaragdina Ladiges, 1972 ซึ่งหมายถึง ปลากัดสีเขียว ตามลักษณะเด่นของปลากัดป่าภาคอีสาน คือที่เกล็ดบริเวณแก้ม จะไม่เป็นขีดหรือแถบเหมือนปลากัดป่าชนิดอื่นๆ แต่จะเป็นเกล็ดสีเขียวแวววาวปกคลุมบริเวณล่างของส่วนหัว สีของลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลแดงไล่ถึงสีน้ำตาลเข้ม ประดับด้วยเกล็ดวาวสีเขียวมรกตทั้งตัว สำหรับสีของครีบต่างๆ นั้น สีบนส่วนรยางค์กระดูกที่ยื่นออกไปนั้นจะมีสีน้ำตาลแดงไล่ถึงสีน้ำตาลเข้ม เช่นเดียวกับ เนื้อตัว โดยแผ่นเยื่อระหว่างรยางค์ดังกล่าวจะมีสีเหลือบเขียวหรือเขียวอมฟ้า สวยงามมาก

วิธีดูปลากัดป่าภาคอีสาน หางจะมีจุดประเหมือนเมล็ดแมงลัก ก้านครีบหางเป็นสีแดง สีพื้นหางเป็นสีฟ้าและเขียว สีพื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน มีเกล็ดสีเหลือบเขียวทั้งตัว บริเวณแก้มมีเกล็ดสีเขียวเคลือบทั้งหน้าคล้ายหน้างู ตะเกียบมีสีแดงปนน้ำตาล มีขอบสีดำ ปลายตะเกียบสีขาว ชายน้ำมีสีน้ำตาลแดง หรือสีข้าวคั่วปนเขียว ปลายครีบยาวแหลม

สำหรับปลากัดป่าหางลายกีตาร์ ก็คือปลากัดชนิดเดียวกับปลากัดป่าภาคอีสาน แต่มีลัษณะเด่นที่มีความแตกต่างและแปลกกว่าปลากัดอีสานทั่วไป พบที่บึงโขงโหลง จังหวัดบึงกาฬ สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีเกล็ดเคลือบฟ้าอมเขียว แก้มมีเกล็ดเคลือบฟ้าอมเขียว เกล็ดที่หน้ามีลักษณะเหมือนหน้างู ตะเกียบจะยาว ด้านในมีสีแดงปนน้ำตาล ขอบด้านหน้าของตะเกียบมีสีฟ้าอมเขียวยาวจากโคนถึงปลาย 

จุดเด่นที่ชาวบ้านเรียกปลากีตาร์เพราะว่าเวลาพองต่อสู้ตะเกียบข้างใดข้างหนึ่งจะกระดิกได้ คล้ายดีดกีตาร์ ชายน้ำจะมีสีฟ้าอมเขียวปนน้ำตาลแดง ปลายครีบยาวแหลม ครีบหางมีทั้งหางพัดและหางโพธิ์ แล้วแต่ลักษณะเด่นของแต่ละตัว จุดเด่นที่แตกต่างจากปลาอีสานทั่วไป ปลากีตาร์จะหางเป็นลายข่ายคล้ายใยแมงมุม ลายข่ายจะมีมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเด่นของแต่ละตัว

จากการสำรวจ พบว่า ปลากัดป่าภาคอีสาน มักอาศัยอยู่ในที่ราบตามทุ่งนา ปลักควาย หนองน้ำ บึงที่มีน้ำนิ่งหรือไหลเอื่อย ๆ และบนยอดเขาที่สูง จากระดับน้ำทะเลถึง 800 เมตร มีการกระจายพันธุ์ในไทย พบเฉพาะในภาคอีสานเท่านั้น และพบได้ทุกจังหวัดในภาคอีสาน โดยถูกกั้นอาณาเขตด้านตะวันตกด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์ ด้านทิศใต้โดยเทือกเขาตะนาวศรี และทิศตะวันออกโดยแม่น้ำโขง นอกจากนี้ยังพบได้ในประเทศลาว

3. ปลากัดป่าภาคใต้ (ปลากัดป่าใต้, ปลากัดลูกทุ่งภาคใต้)

ปลากัดป่าภาคใต้ ถูกค้นพบและตีพิม์ในปี 1975 โดยชาวเยอรมันคนเดียวกับที่ศึกษาปลากัดป่าภาคอีสาน โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta imbellis Ladiges, 1975 และยังพบว่า ปลากัดป่าภาคใต้ ได้แยกสายวิวัฒนาการมาจากบรรพบุรุษร่วมเดียวกับปลากัดป่าภาคกลาง แต่เป็นคนละชนิดกันจริง

ทั้งนี้ ด้วยลักษณะเด่นของแก้มของปลากัดป่าภาคใต้ คือมีขีดหรือแถบสีเขียวสองขีด และสีของลำตัวไม่ค่อยจะออกสีแดงเท่ากับปลากัดป่าภาคกลาง แต่สีพื้นลำตัวเข้ม สีไล่จากน้ำตาลถึงดำทั้งพื้นตัว ประดับด้วยเกล็ดวาวสีเขียวถึงสีเขียวเหลือบฟ้าเรียงเหมือนเมล็ดข้าวโพด

วิธีดูปลากัดป่าภาคใต้ มีก้านครีบหางมีสีแดงสีพื้นหางมีสีเขียวแทรกในก้านหาง บริเวณปลายหางมีสีแดงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวตัดขอบดำ เรียกว่า "วงพระจันทร์แดง" หรือ "วงพระจันทร์เสี้ยว" อยู่ที่ปลายหาง บริเวณชายน้ำมีสีเขียวเหลือบฟ้าขึ้นแซมเป็นเส้นระหว่างครีบแต่ละเส้น ส่วนปลายชายน้ำมีแต้มสีแดง เรียกว่า หยดน้ำ ตะเกียบมีสีแดงขอบดำ ปลายตะเกียบสีขาว ซึ่งทำให้ปลากัดป่าภาคใต้มีลักษณะทั่วไปที่แตกต่างจากปลากัดป่าภาคกลางอย่างชัดเจน

ปลากัดป่าภาคใต้ ยังมีชื่อเรียกอื่นอีกว่า ปลากัดป่าใต้, ปลากัดลูกทุ่งภาคใต้, ปลากัดอิมเบลลิส และมีชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) ว่า Peaceful Betta, Crescent Betta, Malay fighting fish

จากการสํารวจการแพร่กระจายของปลากัดป่าภาคใต้ ที่พบในประเทศไทย พบว่ามีการแพร่กระจายตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา กระบี่ ไปจนถึงประเทศมาเลเซีย รวมถึงมีการพบในประเทศอินโดนีเซียและเวียดนาม

ถิ่นที่อยู่อาศัยของปลากัดป่าภาคใต้ จะอาศัยอยู่ในบริเวณที่นํ้าไหลเอื่อยๆ หรือหนองนํ้าที่มีน้ำนิ่ง ในทุ่งนา และคลองขนาดเล็กต่างๆ ปัจจุบันได้ถูกนํามาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์โดยได้มีการเพาะพันธุ์ลูกผสมเพื่อให้ได้ลูกพันธุ์ที่มีเกล็ดเป็นสีมันวาว

ปลากัดป่าภาคใต้ เป็นปลากัดป่าที่มีลักษณะสวยงาม และกำลังเริ่มกลับมาได้รับความนิยมนํามาเลี้ยงเป็นปลากัดสวยงามอีกครั้ง ซึ่งนักเพาะเลี้ยงปลากัดป่าได้มีการพัฒนาสายพันธุ์โดยการทําปลากัดป่าลูกผสม เพื่อให้เกิดลักษณะที่สวยงามตรงกับความต้องการของตลาด

4. ปลากัดป่ามหาชัย, ปลากัดมหาชัย

ปลากัดป่ามหาชัย มีชื่อวิทยาศาสตร์: Betta mahachaiensis Kowasupat et al., 2012 บางคนเรียกว่า ปลากัดมหาชัย มีชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) ว่า Mahachai Betta พบได้ในประเทศไทยแห่งเดียวในโลก และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก พบอาศัยในแหล่งน้ำจืดที่มีน้ำเค็มเข้ามาปนเล็กน้อย มักพบในป่าจาก ช่วงที่น้ำลดมักจะอาศัยอยู่ในน้ำที่ขังตามกอจาก และในน้ำที่ขังอยู่ในโคนกาบใบจาก

จากข้อมูลพบว่า ปลากัดป่ามหาชัยนี้ถูกสำรวจพบและรู้จักมานานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร กันมานานมากๆแล้ว ซึ่งจากการสำรวจของทีมวิจัยปลากัดป่ามหาชัย มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน พบว่า หลักๆ แล้วพบว่า การกระจายพันธุ์ของปลากัดป่ามหาชัยนั้น สามารถพบได้ในพื้นที่แคบ ๆ ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการและพบบ้างบางพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ ในเขตบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร เช่น แถบแสมดำ

วิธีดูปลากัดป่ามหาชัย มีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากปลากัดป่าชนิดอื่น คือ แก้มมีขีดสีเขียวอมฟ้าถึงสีเขียวชัดเจน 2 ขีด ลักษณะคล้ายกับปลากัดป่าภาคใต้ บางตัวจะมีแก้มเคลือบทั้งแท่น แต่ที่สำคัญทางผู้วิจัยพบว่า ปลากัดป่ามหาชัยนี้ เป็นปลากัดก่อหวอดในไทยชนิดเดียว ที่มีเยื่อใต้แผ่นปิดเหงือกสีดำสนิท โดยไม่มีขีดหรือแถบสีแดงมาแซมอยู่เหมือนปลากัดป่าชนิดอื่นๆ ในไทย

ส่วนสีพื้นลำตัวของปลากัดป่ามหาชัย เมื่อขึ้นสีจะมีสีไล่จากสีน้ำตาลไปจนดำสนิท ประดับด้วยเกล็ดวาวสีเขียวถึงเขียวอมฟ้า โดยเกล็ดวาวจะเรียงอย่างสม่ำเสมอเสมือนเมล็ดข้าวโพดเรียงบนฝัก สำหรับสีของครีบต่างๆ นั้น สีบนส่วนรยางค์กระดูกที่ยื่นออกไปจะมีสีน้ำตาลถึงสีดำสนิท โดยแผ่นเยื่อระหว่างรยางค์ดังกล่าวจะมีสีเขียวถึงเขียวอมฟ้า ส่วนใหญ่จะพบจุดสีดำแซมอยู่ตามขอบของรยางค์กระดูกบนครีบหางหรือบนครีบก้นบ้างในบางตัว ลักษณะของพื้นสีชายน้ำด้านล่างจะมีสีน้ำตาลดำ

นอกจากนี้ ปลากัดป่ามหาชัย มีช่วงหัวสั้น และยังมีส่วนด้านบนตัวตามแนวรอยต่อระหว่างหัวถึงตัว นูนสูงคล้ายลักษณะของคนหลังค่อม ครีบหูค่อนข้างใส ครีบตะเกียบมีน้ำตาลถึงดำ โดยมีขอบหน้าของตะเกียบสีเขียวถึงเขียวอมฟ้า และส่วนใหญ่จะมีปลายสีขาว และมีลายขวางสีดำพาดกินพื้นที่อย่างน้อย 2 ใน 3 ของครีบหลังเหมือนกับปลากัดป่าก่อหวอดชนิดอื่น ๆ

ปลากัดป่ามหาชัยบางตัว อาจมีครีบหางกลม ที่เรียกกันว่า หางพัด หรืออาจมีปลายแหลมเหมือนใบโพธิ์ หรือกึ่งใบโพธิ์ ซึ่งรูปแบบกึ่งใบโพธิ์นี้ เป็นลักษณะที่พบมากที่สุดในปลากัดป่ามหาชัยที่ช้อนจากธรรมชาติในปัจจุบัน

5. ปลากัดป่าภาคตะวันออก, ปลากัดป่าตะวันออก, ปลากัดลูกทุ่งตะวันออก

ทางทีมวิจัยปลากัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เก็บตัวอย่างปลากัดป่าจากภาคตะวันออก มาวิเคราะห์ลักษณะสัณฐานวิทยา โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อตรวจสอบดีเอ็นเอ จนพบว่า แตกต่างจากปลากัดป่าภาคกลางอย่างสิ้นเชิง และมีวิวัฒนาการค่อนข้างใกล้เคียงกับปลากัดป่าภาคใต้

ซึ่งมีลักษณะภายนอกและสีตัวของปลากัดป่าภาคตะวันออก จะคล้ายคลึงกับปลากัดป่าภาคใต้อย่างมาก มีเพียงแค่สีของขีดบริเวณแก้มเท่านั้น ที่เป็นสีแดงเหมือนกับปลากัดป่าภาคกลาง จึงทำให้ทีมวิจัยได้นำตัวอย่างปลากัดป่าภาคตะวันออกไปตรวจสอบดีเอ็นเอ จนพบว่าเป็นปลากัดป่าชนิดใหม่

วิธีดูปลากัดป่าภาคตะวันออก ลำตัวมีสีแดงออกดำ เกล็ดมีสีเขียวเหลือบฟ้า ลักษณะส่วนหัวจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ มีขีดแดงบริเวณขอบแผ่นปิดเหงือกหรือบางตัวก็ไม่มีเลย แล้วแต่จุดเด่นของปลาแต่ละตัว ตะเกียบมีสีแดงขอบดำ ปลายตะเกียบสีขาว ก้านครีบหางมีสีแดงออกดำ สีเส้นสีเขียวแทรกในเนื้อหาง บริเวณปลายหางมีขอบสีแดงเหมือนพระจันทร์เสี้ยวตัดขอบสีดำ "วงพระจันทร์แดง" หรือ "วงพระจันทร์เสี้ยว" อยู่ที่ปลายหาง ชายน้ำและบริเวณก้านครีบเป็นสีแดงออกดำ มีเส้นสีเขียวอมฟ้าขึ้นแซมระหว่างก้านครีบ ส่วนของปลายชายน้ำจะเป็นสีแดง

ปลากัดป่าภาคตะวันออก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta siamorientalis Kowasupat et al., 2012 มีชื่ออื่นว่า ปลากัดป่าตะวันออก, ปลากัดตะวันออก, ปลากัดลูกทุ่งตะวันออก และมีชื่อสามัญ (ชื่อภาษาอังกฤษ) ว่า  Kabinburi betta, Black imbellis

การกระจายพันธุ์ของปลากัดป่าภาคตะวันออก พบที่จังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว ปราจีนบุรี และบางส่วนของชลบุรี รวมทั้งกระจายพันธุ์ในพื้นที่บางส่วนของกัมพูชาและตอนใต้ของเวียดนาม พบอาศัยตามทุ่งนา หนองน้ำที่มีน้ำนิ่งหรือคลองที่ที่มีน้ำไหลเอื่อยๆ

ปลากัดป่า เป็นมรดกทางวัฒนธรรม

ปลากัดป่า หรือ ปลากัดพื้นเมือง เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าในการอนุรักษ์ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย แต่ในการอนุรักษ์นั้น นอกจากการรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากัดป่าในธรรมชาติให้คงความอุดมสมบูรณ์เพื่อให้พันธุ์ปลากัดป่ายังคงอยู่อย่างยั่งยืนแล้ว สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การเพาะขยายพันธุ์ เพื่อดำรงรักษาสายพันธุ์ไว้

นอกจากการอนุรักษ์แล้ว ปลากัดป่า หรือ ปลากัดพื้นเมืองของไทย ยังได้รับความสนใจจากผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงามทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีการจับปลากัดป่าจากธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ จำหน่ายแก่ผู้ที่นิยมเลี้ยงเป็นการสร้างรายได้และอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกร มีการนำมาพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้เกิดสายพันธุ์ที่แปลกใหม่ รวมทั้งนำมาประกวดเพื่อให้เป็นที่รู้จัก และกระตุ้นให้เกิดความนิยมในการค้าขาย เพิ่มมูลค่าของตัวปลากัดมากขึ้น

แหล่งปลากัดป่าที่ได้รับความนิยมเลี้ยงกัน เช่น ปลากัดป่ามหาชัย, ปลากัดป่าเชียงใหม่, ปลากัดป่านครศรีธรรมราช 100, ปลากัดป่าชลบุรี, ปลากัดป่ากรุงเทพ, ปลากัดป่าปทุมธานี, ปลากัดป่าศรีราชา, ปลากัดป่าหางดง, ปลากัดป่าจตุจักร, ปลากัดป่านครสวรรค์, ปลากัดป่าบุรีรัมย์, ปลากัดป่าภูเก็ต, ปลากัดป่าขอนแก่น เป็นต้น ซึ่งจริงๆแล้ว ก็เริ่มได้รับความนิยมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ

สถานภาพของปลากัดป่าแท้ของไทย

สำหรับสถานภาพของปลากัดป่าของไทย ในหนังสือ สรุปชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามของประเทศไทย : สัตว์มีกระดูกสันหลัง , ปี 2560 ซึ่งจัดพิมพ์โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อมูลดังนี้คือ

  • ปลากัดป่าที่ถูกจัดอยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered-CR) ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์จากพื้นที่ธรรมชาติในขณะนี้ มีปลากัดป่า 2 ชนิด ได้แก่ Betta mahachaiensis และ Betta simplex
  • ปลากัดป่าที่อยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable-VU) ที่กำลังเข้าสู่ภาวะใกล้สูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ ถ้ายังคงมีปัจจัยต่างๆ อันเป็นสาเหตุให้ปลากัดป่าสูญพันธุ์ ซึ่งปลากัดป่าที่อยู่ในสถานภาพนี้ 4 ชนิด คือ Betta pi, Betta siamorientalis, Betta smaragdina และ Betta splendens
  • ปลากัดป่าที่อยู่ในสถานภาพใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened-NT) ที่มีแนวโน้มอาจถูกคุกคามในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ยังไม่มีผลกระทบมาก ได้แก่ Betta prima
  • ปลากัดป่าที่อยู่ในสถานภาพข้อมูลไม่เพียงพอ (Data Deficient-DD) ที่จะวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยตรงหรือทางอ้อม จึงจำเป็นต่อการจัดหาความรู้เพิ่มเติมจากการศึกษาวิจัยในอนาคต คือกลุ่มปลากัดอมไข่ 4 ชนิด ได้แก่ Betta apollon, Betta ferox, Betta kuehnei และ Betta pallida

ประเทศไทยตั้งอยู่ในโซนร้อน มีอากาศค่อนข้างร้อน และอุณหภูมิของน้ำค่อนข้างสูงเกือบทั้งปี เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำชนิดต่างๆ นอกจากนี้ ฝนซึ่งเกิดจากฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นลมหนาวเย็นพัดมาจากประเทศจีนตอนเหนือ และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านทะเลเข้ามา จะนำเอาความชื้น และฝนมาสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของสัตว์ และพืช รวมทั้งสัตว์น้ำเช่น ปลากัดป่า หรือปลากัดพื้นเมืองของประเทศไทย อีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีแหล่งน้ำธรรมชาติจำนวนมาก ทั้งห้วย หนอง คลอง บึง ป่าพรุ ทำให้มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำ

ปัจจุบันตลาดปลาสวยงามยังต้องการพันธุ์ปลาที่แปลกใหม่ มีความหลากหลายของชนิดปลากัดมากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้นิยมเลี้ยงปลาสวยงาม ดังนั้นการศึกษาวิธีการเพาะเลี้ยงปลากัดป่าพื้นเมืองของไทย การจัดประกวดปลากัดป่าจึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มมูลค่าให้กับปลากัดป่า เพื่อการจําหน่ายปลากัดป่าทั้งภายในประเทศ และการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์ปลากัดป่าของไทย และทดแทนการเก็บรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลากัดป่าลูกผสม, ปลากัดป่าพัฒนา (สายพัฒนา)

ปัจจุบันในวงการปลากัดสวยงาม ได้มีการนำปลากัดป่าไปผสมข้ามพันธุ์กันเป็นปลากัดป่าลูกผสม, ปลากัดป่าไฮบริด หรือ ปลากัดป่าสายพัฒนา เพื่อให้เกิดปลากัดป่าสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีลวดลายสีสันแปลกๆ ปลากัดป่าสวยๆ ออกมาหลากหลายมาก ที่เห็นมีขายที่ตลาดปลาสวยงามจตุจักร เช่น ปลากัดป่าผสมปลากัดจีน เป็นปลากัดป่าหางยาว, ปลากัดป่าเอเลี่ยน, ปลากัดป่าลายไทย, ปลากัดป่าสีนาค, ปลากัดกีต้าร์ทองแดง, ปลากัดมหาชัยสีน้ำเงิน  เป็นต้น ราคาปลากัดป่า ขึ้นอยู่กับความแปลกใหม่ หายาก ความสมบูรณ์สวยงาม และความพึงพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย

รายชื่อปลากัดป่า กลุ่มอมไข่ ในประเทศไทย Mouth Brooder Betta

จากการสำรวจชีววิทยาและสายพันธุ์ของปลากัดในประเทศไทย พบปลากัดป่า กลุ่มเลี้ยงลูกในปาก หรือ ปลากัดอมไข่ (Mouth brooder Betta) ประมาณ 7 ชนิด ได้แก่...

1. ปลากัดป่าอมไข่ 'กระบี่'

ปลากัดป่าอมไข่ 'กระบี่' มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta simplex Kottelat, 1994  เป็นปลากัดป่าเฉพาะถิ่น Endemic ในโลกนี้พบได้เฉพาะใน จ.กระบี่ ประเทศไทย เท่านั้น มีชื่ออื่นว่า ปลากัดหัวโม่งกระบี่, ปลากัดซิมเพล็กซ์

2. ปลากัดป่าอมไข่ 'จันทบูรณ์'

ปลากัดป่าอมไข่ 'จันทบูรณ์' มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta prima Kottelat, 1994 มีชื่ออื่นว่า ปลากัดหัวโม่งจันทบูรณ์, ปลากัดอมไข่จันทบูร์, ปลากัดอมไข่ภาคตะวันออก, ปลากัดไพรม่า

3. ปลากัดป่าอมไข่ 'ป่าพรุ'

ปลากัดป่าอมไข่ 'ป่าพรุ' มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta pi Tan, 1998 มีชื่ออื่นว่า ปลากัดช้าง, ปลากัดน้ำแดง พบที่ป่าพรุ ในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส 

4. ปลากัดป่าอมไข่ภาคใต้

ปลากัดป่าอมไข่ภาคใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta pallida Schindler & Schmidt, 2004 มีชื่ออื่นว่า ปลากัดอมไข่ภูเขา ค้นพบและบรรยายจากจังหวัดนราธิวาส และมีรายงานค้นพบที่เกาะสมุย (จังหวัดสุราษฎร์ธานี), สุไหงโก- ลก และอาจพบได้ที่มาเลเซีย 

5. ปลากัดป่าอมไข่ 'นราธิวาส'

ปลากัดป่าอมไข่ 'นราธิวาส' Betta apollon Schindler & Schmidt, 2006 มีชื่ออื่นว่า ปลากัดอะโพลอน เป็นปลากัดป่าเฉพาะถิ่น Endemic ในโลกนี้พบได้เฉพาะในจังหวัดนราธิวาส ประเทศไทย ที่ลำธารทางตะวันตกของจังหวัดนราธิวาส

6. ปลากัดป่าอมไข่ 'สงขลา'

ปลากัดป่าอมไข่ 'สงขลา' มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta ferox Schindler & Schmidt, 2006 เป็นปลากัดป่าเฉพาะถิ่น Endemic ในโลกนี้พบได้เฉพาะในจังหวัดสงขลา ประเทศไทย เท่านั้น มีชื่ออื่นว่า ปลากัดหัวโม่งสงขลา, ปลากัดฟีร็อกซ์

7.ปลากัดป่าอมไข่ 'คือห์เน'

ปลากัดป่าอมไข่ 'คือห์เน' มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta kuehnei Schindler & Schmidt, 2008 ค้นพบโดย เยนส์ คือห์เน (Jens Kühne) เป็นนักมีนวิทยาและนักสำรวจธรรมชาติชาวเยอรมัน ค้นพบในประเทศมาเลเซีย ชื่อระบุชนิด 'kuehnei' ตั้งตามชื่อผู้ค้นพบนั่นเอง นอกจากนี้ยังพบในอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส  (Schindler and Schmidt 2008).

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

แนะนำหนังสือ ออกใหม่!

คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

*ดูราคาหนังสือ ... คลิกที่ภาพ!
คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

รวบรวมพันธุ์ปลาสวยงามมากกว่า 200 ชนิดพร้อมภาพสวยๆ และรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด รวมถึงเทคนิคการเลี้ยงดูแลปลาสวยงาม และอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามที่สำคัญ นับเป็นหนังสือคู่มือปลาสวยงามที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ...