Skip to main content

*วิธีเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์ อาหารสดมีชีวิต อนุบาลลูกปลากัด..

5star

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

วิธีเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์ อาหารสดมีชีวิต อนุบาลลูกปลากัด

วิธีเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์ แพลงก์ตอนสัตว์ อาหารสดมีชีวิต อนุบาลลูกปลากัด โปรตีนสูง อาหารโรติเฟอร์ แหล่งที่อยู่อาศัย วงจรชีวิต การแพร่ขยายพันธุ์

โรติเฟอร์ เป็นแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กมาก นิยมนำมาให้สัตว์น้ำวัยอ่อนกินเป็นอาหาร ซึ่งสามารถนำมาใช้เลี้ยงอนุบาลลูกปลากัดได้เป็นอย่างดี เพราะไรติเฟอร์มีขนาดเล็กพอดี พอเหมาะที่ลูกปลากัดจะกินได้ สำหรับตัวโรติเฟอร์เองนั้น กินแพลงก์ตอน พืชที่มีสีเขียว เป็นอาหาร โดยส่วนมากมีทั้งโรติเฟอร์น้ำจืด และโรติเฟอร์น้ำเค็ม ซึ่งอยู่ในสกุล Brachionus วงศ์ Brachionidae

จากการศึกษาพบว่า มีโรติเฟอร์แพร่กระจายอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งในโลก ทั้งนี้เป็นเพราะโรติเฟอร์มีการปรับตัวหรือมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปได้ตามฤดูกาลได้ เรียกว่า ไซโคลมอร์โฟซีส (cyclomorphosis) การปรับตัวของโรติเฟอร์ กระทำได้โดยการปรับน้ำหนักให้ลดลง ปรับตัวให้มีระยางค์ที่ช่วยในการลอยตัวและว่ายน้ำ มีการปรับตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่จม โดยไข่จะติดกับตัวแม่

โรติเฟอร์ นอกจากอาศัยอยู่ในน้ำ โดยแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ทุกระดับความลึกของน้ำแล้ว ยังสามารถอาศัยอยู่บนพืช เช่น มอส หรือไลเคน ซึ่งโรติเฟอร์เหล่านี้สามารถฟักออกจากไข่เป็นตัวได้ ก็เฉพาะเมื่อใดที่มีฝนหรือน้ำค้างมาขังในที่ ๆ มันอาศัยอยู่เท่านั้น เมื่อเริ่มแห้ง โรติเฟอร์เหล่านี้ก็จะเริ่มสร้างไข่ระยะพักตัว (resting egg) ขึ้นมาทันที และไข่จะฟักออกมาเป็นตัวเมื่อมีน้ำมาขังอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ไข่ของโรติเฟอร์สามารถอาศัยอยู่ได้ตามซอกใบไม้ได้นาน 3-4 ปี

โรติเฟอร์เกือบทั้งหมด จัดเป็นสัตว์กินพืชและสัตว์ ส่วนใหญ่จะกินแพลงก์ตอนพืชพวกเซลล์เดี่ยว ๆ และแบคทีเรีย บางครั้งกินซากสิ่งมีชีวิตและตะกอนต่าง ๆ (detritus) กินอาหารโดยพัดอาหารเข้าปาก เป็นการกินอาหารด้วยการกรอง และมักกินตลอดเวลา การดำรงชีวิตของโรติเฟอร์ นอกจากจะเป็นแพลงก์ตอนแล้ว ยังเป็นปรสิตของสัตว์อื่น เช่น เป็นปรสิตที่เกาะอาศัยอยู่ตามเหงือกของครัสตาเชียน บางชนิดเป็นปรสิตในไข่ของหอย และสัตว์น้ำอื่น ๆ

โรติเฟอร์ที่นำมาอนุบาลสัตว์น้ำจืด เป็นสายพันธุ์โรติเฟอร์น้ำจืด ชนิด Brachionus calycitorus อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ บริเวณแม่น้ำ ลำคลอง 

โรติเฟอร์ มีคุณค่าอาหารสูง โดยมีโปรตีน 58-72% ไขมัน 21-31% ของน้ำหนักแห้ง เคลื่อนที่ช้า แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว ด้วยวิธีสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ จึงเพิ่มจํานวนในเวลาสั้นๆ เป็นตัวนําที่ดีของอาหารเสริม เช่น กรดไขมัน

ช่วงชีวิตของโรติเฟอร์ ประมาณ 3.4-4.4 วัน ที่อุณหภูมิ 25°C ตัวอ่อนใช้เวลา 0.5-1.5 วัน เติบโตเป็นตัวเต็มวัย ในสภาวะปกติ โรติเฟอร์เกือบทั้งหมดเป็นเพศเมีย หลังจากฟักเป็นตัวได้ประมาณ 12 ชั่วโมง โรติเฟอร์จะเริ่มมีไข่ หลังจากนั้นประมาณ 8 ชั่วโมง ไข่จะฟักเป็นตัว ตลอดชั่วอายุของตัวแม่โรติเฟอร์จะให้ตัวอ่อน 29-30 ตัว

เมื่อสภาวะสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เช่น อาหารลดลง หรืออุณหภูมิของน้ำเย็นลง โรติเฟอร์จะเปลี่ยนวิธีสืบพันธุ์เป็นแบบมีเพศ คือเมื่อโรติเฟอร์เพศผู้ ผสมพันธุ์กับ โรติเฟอร์เพศเมีย ก็จะเกิดไข่ฟัก (Resting egg) (ซึ่งเราสามารถเก็บไข่โรติเฟอร์ไว้ในตู้เย็นได้ทั้งในสภาวะที่อยู่ในน้ำและในสภาพไข่แห้ง ) 

สภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของโรติเฟอร์ 
  • ความเค็มของน้ำ ไม่เกิน 35 ส่วนในพัน
  • ออกซิเจนในน้ำ ไม่ต่ำกว่า 2 มก./ล.
  • ค่าพีเอช 7.5 
  • แอมโมเนีย(NH3) ต่ำกว่า 1มก./ล.
  • อุณหภูมิ 25-30°C
โรติเฟอร์กินอาหารได้หลายชนิด ได้แก่ สาหร่ายขนาดเล็ก (microalgae) ยีสต์ แบคทีเรีย และตะกอนในน้ำ แต่อาหารที่ดีที่สุดในการเลี้ยงโรติเฟอร์คือ คลอเรลลาทะเล และ ยีสต์ขนมปัง

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัย เรื่อง ผลของอุณหภูมิต่อการสืบพันธุ์อายุขัย และขนาดตัวของ Brachionus calyciflorus Pallas โดย ศุจีภรณ์ อธิบาย ได้สรุปไว้ว่า แม่พันธุ์ B. calyciflorus ที่เลี้ยงภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส สามารถผลิตลูกได้มากกว่าแม่พันธุ์ที่เลี้ยงในอุณหภูมิ 20 และ 25 องศาเซลเซียส ถึงแม้ว่าจะมีระยะวัยสืบพันธุ์ที่ไม่แตกต่างกับอุณหภูมิอื่น แต่ปริมาตรลําตัว และปริมาตรไข่ของลูกพันธุ์มีขนาดเล็กกว่า ที่อุณหภูมิ 20 และ 25 องศาเซลเซียส

ในทางตรงกันข้ามอายุขัย ระยะวัยอ่อนของแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส จะสั้นกว่าที่อุณหภูมิอื่น แสดงให้เห็นว่าแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิ30 องศาเซลเซียส เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วกว่าที่อุณหภูมิอื่น ลูกที่เกิดจากแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิต่างกันมีขนาดตัวและความยาวหนามที่แตกต่างกัน ที่อุณหภูมิ20 องศาเซลเซียส ลูกพันธุ์มีขนาดใหญ่และหนามยาวกว่าที่อุณหภูมิ25 และ 30 องศาเซลเซียส ลูกพันธุ์ทุกตัวที่เกิดจากแม่พันธุ์ที่อุณหภูมิ 20 องศาเซลเซียส มีหนามส่วนท้ายด้านข้าง แต่ที่อุณหภูมิ 25 และ 30 องศาเซลเซียส พบลูกที่มีหนาม ส่วนท้ายด้านข้าง เพียง 27.8 % และ 5 % ตามลําดับ

การที่โรติเฟอร์มีหนามยาว อาจจะไม่เหมาะสมที่จะนําไปใช้อนุบาลสัตว์นํ้าวัยอ่อน เพราะลูกปลาบางชนิด ชอบกินโรติเฟอร์ที่มีหนามสั้น จึงกล่าวได้ว่าอุณหภูมิมีผลต่อการสืบพันธุ์ การเจริญเติบโต อายุขัย ขนาดตัว และความยาวหนามของ B. calyciflorus ในการเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ควรเลี้ยง B. calyciflorus ในสภาวะภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส และมีการควบคุมอุณหภูมิให้มีความคงที่ตลอดการเพาะขยายพันธุ์ในปริมาณมาก เพราะจะได้ผลผลิตสูง

วิธีการเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์

การเพาะโรติเฟอร์ มีวิธีการและขั้นตอนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า สภาวะแวดล้อมในขณะนั้น มีความเหมาะสมเพียงใด และการใช้วิธีการและสูตรอาหารที่แตกต่างกัน ซึ่งอาหารของโรติเฟอร์ก็คือ น้ำเขียว หรือ สาหร่ายคลอเรลลา นั่นจึงเป็นเหตุผลที่มักจะพบโรติเฟอร์ปะปนอยู่ในบ่อน้ำเขียวที่ใช้เลี้ยงไรแดง นั่นเอง

การเพาะเลี้ยงโรติเฟอร์ จึงคล้ายกับการเพาะเลี้ยงไรแดง คือเมื่อสีของน้ำเขียวเข้มๆ ดีแล้ว ก็สามารถใส่โรติเฟอร์ลงไปในบ่อ แล้วเป่าปั๊มลม โรติเฟอร์จะกินน้ำเขียว และขยายพันธุ์ จนสีของน้ำเขียวเปลี่ยนเป็นสีชา สามารถกรองโรติเฟอร์ไปใช้อนุบาลลูกปลาได้ โดยกรองด้วยผ้ากรองขนาด 69 ไมครอน หรือเล็กกว่า

ที่มา :
  • สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
  • ผลของอุณหภูมิต่อการสืบพันธุ์อายุขัย และขนาดตัวของ Brachionus calyciflorus Pallas โดย ศุจีภรณ์ อธิบาย
  • การผลิตโรติเฟอร์แบบความหนาแน่นสูง, กรมประมง

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

แนะนำหนังสือ ออกใหม่!

คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

*ดูราคาหนังสือ ... คลิกที่ภาพ!
คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

รวบรวมพันธุ์ปลาสวยงามมากกว่า 200 ชนิดพร้อมภาพสวยๆ และรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด รวมถึงเทคนิคการเลี้ยงดูแลปลาสวยงาม และอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามที่สำคัญ นับเป็นหนังสือคู่มือปลาสวยงามที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ...