Skip to main content

โรคปลากัด มีอะไรบ้าง วิธีการรักษา อาการปลากัดป่วย ?..

5star

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

โรคปลากัด มีอะไรบ้าง สาเหตุโรค และ วิธีการรักษา อาการปลากัดป่วย ยารักษาโรคปลากัดป่วย

การเพาะเลี้ยงปลากัด และขยายพันธุ์ปลากัดให้มีอัตราการเกิดและอัตราการรอดชีวิตมาก เป็นสิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่จะส่งผลต่อการทำธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดให้ได้กำไรและประสบความสำเร็จ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีอัตราการเกิดและอัตราการรอดชีวิตของปลากัดมากหรือน้อย นอกจากการคัดเลือกพันธุ์ การเพาะฟัก การเลี้ยงดูแลอย่างดีแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการป้องกันโรคและการดูแลรักษาโรคปลากัดด้วย ถ้าหากปลากัดมีอาการป่วยเป็นโรค ต้องสามารถวิเคราะห์หาสาเหตุของโรคได้ รู้จักชนิดของโรค และแนวทางในการรักษาโรคได้

สาเหตุของโรคปลากัด เกิดจากอะไรบ้าง?

สำหรับปลากัดที่เลี้ยงอย่างถูกวิธี มักจะมีการเจริญเติบโตที่สมบูรณ์แข็งแรง แต่ตรงกันข้าม ถ้าสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของปลากัด จะส่งผลทำให้ปลากัดเป็นโรคได้ง่าย ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคปลากัด มักจะเกิดจากหลายสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้
  1. น้ำสกปรก ไม่ค่อยเปลี่ยนน้ำ เนื่องจากน้ำมีของเสีย ขี้ปลา และเศษอาหารบูดเน่าตกค้างอยู่ก้นบ่อ
  2. อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในช่วงต้นฤดูหนาวปลากัดมักจะอ่อนแอมาก เนื่องจากอากาศเย็น ทำให้น้ำเย็นมาก ส่งผลให้อาจจะเกิดโรคระบาดในปลากัดได้ง่ายกว่าฤดูอื่นๆ 
  3. อาจจะเกิดจากการที่มีเชื้อโรคปรสิตต่างๆ มาเบียดเบียน ทั้งภายนอกและภายในตัวปลากัด
  4. เกิดจากความผิดปกติของอวัยวะของปลากัดเอง
  5. เกิดจากการขาดธาตุอาหาร 

การป้องกันและดูแลรักษาปลากัด

การเลี้ยงปลากัดที่ถูกต้อง จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันโรคและดูแลรักษาสุขภาพของปลากัดให้ดีที่สุด ดังนี้
  • ก่อนการให้อาหารสดต่างๆ พวกอาหารที่มีชีวิต เช่น ไรน้ำ ลูกน้ำ หนอนแดง ควรทำความสะอาดก่อนให้ปลากัดกินทุกครั้ง
  • ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำอยู่เสมอ เป็นประจำเพื่อลดการหมักหมมก่อเชื้อโรค โดยในการเปลี่ยนถ่ายน้ำปลากัดนี้ น้ำใหม่ที่ใช้ควรมีอุณหภูมิใกล้เคียงหรือไม่แตกต่างจากอุณหภูมิน้ำเดิมที่ปลากัดอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันปลากัดช็อกน้ำและลดการเกิดอาการเครียดของปลากัด
  • ทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำให้ปลากัดหรือจับปลากัดใหม่ใส่ลงไปในภาชนะเลี้ยงใหม่ จะต้องใช้น้ำเกลือ ล้างทำความสะอาดภาชนะเลี้ยงปลากัดนั้นด้วย
  • น้ำสะอาดที่นำมาใช้เลี้ยงปลากัด จะต้องปราศจากคลอรีน หากจำเป็นต้องใช้น้ำปะปา ควรพักน้ำไว้อย่างน้อยสองวัน จึงนำมาใช้เลี้ยงปลากัดได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะได้มีการป้องกันเป็นอย่างดีก็ตาม ปลากัดที่เลี้ยงก็อาจป่วยเป็นโรคได้ จากการที่สาเหตุของการเกิดโรคปลากัดนี้มีหลายสาเหตุ หากไม่มีความชำนาญจริงๆ แล้วการวินิจฉัยโรคปลากัดมักจะเกิดความผิดพลาดขึ้น เพราะโรคปลากัดบางโรค แม้จะมีสาเหตุที่แตกต่างกัน ก็มีลักษณะอาการป่วยของโรคคล้ายกันมาก เพื่อเป็นแนวทางการรักษาโรคง่าย ๆ แล้วเราสามารถสังเกตลักษณะอาการของปลาป่วยที่เป็นโรคดังนี้

การสังเกตอาการปลากัดป่วย ดูยังไงบ้าง?

1. การเคลื่อนไหวของปลากัด
เมื่อสังเกตพบว่า ปลากัดเริ่มมีอาการว่ายน้ำผิดปกติ แสดงว่า ปลากัดป่วยเป็นโรคชนิดหนึ่ง เช่น ปลากัดว่ายน้ำหมุนไปรอบ ๆ อาจเป็นตามแนวดิ่งหรือตามแนวราบ ปลากัดว่ายน้ำขึ้นลงบ่อยครั้ง ปลากัดว่ายน้ำกระตุก หรือว่ายน้ำเร็วหรือช้ากว่าปกติมากอาการผิดปกตินี้ อาจมีสาเหตุเกิดจากการรบกวนของปรสิต บริเวณกระเพาะลม อาการบาดแผลอักเสบหรือมีสารพิษในน้ำ นอกจากนี้บางครั้งจะเห็นว่าปลากัดว่ายน้ำเอาตัวถูกับข้าง ๆ ภาชนะที่เลี้ยง หรือโฉบถูตามพันธุ์ไม้น้ำ อาการอย่างนี้แสดงว่ามีปรสิตเกาะที่บริเวณผิวหนังปลากัด หรือเกิดมีบาดแผลที่บริเวณลำตัวปลากัดก็เป็นได้

2. การเปลี่ยนแปลงสีปลากัด ที่สีลำตัวซีดลง ปลากัดถอดสี
หากสังเกตพบว่า จากเดิมปลากัดมีสีสันเข้มสดใสสวยงาม แล้วอยู่เริ่มสีซีดลง หม่นหมองไม่สดใสเหมือนเดิม แสดงว่าปลาเริ่มผิดปกติ ขาดความสมบูรณ์และไม่แข็งแรง อาจมีสาเหตุมาจากโรคและปรสิตรบกวน ขาดออกซิเจน มีสารพิษในน้ำ เช่น น้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดอาจมีคลอรีนมากเกินไป รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิและแสงสว่างอย่างรวดเร็ว จนปลาเครียด ปรับตัวไม่ทัน

3. การเปลี่ยนนิสัยการกินอาหารของปลากัด
โดยปกติแล้ว มักเกิดขึ้นกับปลากัดที่มีการเปลี่ยนอาหาร ทำให้ปลากินอาหารได้น้อยลง ไม่ยอมกินอาหาร หรืออาจทำให้ระบบการย่อยอาหารของปลากัด ทำงานไม่เป็นปกติ ท้องอืด เมื่อปลากินอาหารได้น้อยจะทำให้บริเวณท้องของปลาจมลึกลงไป

4. การเจริญเติบโตของปลากัด
สำหรับปลากัดที่มีความเจริญเติบโตช้าหรือเร็วผิดปกติ อาจจะทำให้เกิดโรคง่ายกว่าปลาที่เจริญตามปกติ

5. การเปลี่ยนแปลงลักษณะอื่นๆ ของปลากัด
ยังมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะอื่นๆ ของปลากัดอีกมากมาย ที่ต้องคอยหมั่นสังเกต เช่น การตรวจดูปลากัดที่ปกติโดยจับด้านหนึ่งตะแคงขึ้น ปลาที่เป็นปกติลูกตาจะมองขึ้นด้านบนเสมอ ถ้าลูกตาปลาไม่เคลื่อนไหวแสดงว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังอาจทำการตรวจครีบลำตัว และบริเวณหัวว่ามีบาดแผลหรือปรสิตเกาะกินหรือไม่

โรคปลากัด มีอะไรบ้าง? และวิธีการรักษา อาการปลากัดป่วยเบื้องต้น

โรคสนิมปลากัด

โรคสนิมปลากัด โรคนี้มีสาเหตุมาจากสัตว์เซลล์เดียว จะเกาะตามผิวหนัง เหงือกและลำตัวของปลา ปลากัดที่ป่วยเป็นโรคนี้ สังเกตดูที่ผิวเกล็ดของปลา จะมีละอองสีเหลืองคล้ายกำมะหยี่เคลือบติดตามผิวหนังของปลากัด ระยะแรกจะเห็นเพียง 2 - 3 จุด หลังจากนั้นจะกระจายลุกลามไปทั่วตัว เป็นจุดเล็ก ๆ สีเหลืองเข้ม

วิธีรักษาโรคสนิมปลากัด
  1. ใช้เกลือแกงเข้มข้น 1 ช้อนโต๊ะ ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ปลากัดไว้นาน 24 ชั่วโมง ควรทำซ้ำทุก 2 วัน หลังจากที่เปลี่ยนน้ำเลี้ยงหมดแล้ว
  2. ใช้ยาเหลือง ใช้ 4 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร อาจใช้ร่วมกับเกลือแกง 1 ช้อนโต๊ะก็ได้ โดยนำปลากัดลงไปแช่ทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ ถ้ายังไม่หาย ให้ทำซ้ำอีกครั้งจนกว่าจะมีอาการดีขึ้น 

โรคเชื้อราปลากัด

สำหรับโรคเชื้อราที่ทำให้ปลากัดป่วย ได้รับบาดเจ็บ หรืออยู่ในสภาพที่อ่อนแอ ปลากัดที่เป็นโรคเชื้อรานี้ สังเกตจากที่ผิวเป็นปุยสีขาวคล้ายสำลี เกาะตามผิวลำตัวหรืออาจมีเส้นราเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่รีบรักษาอย่างทันที หรือปล่อยทิ้งไว้ จะทำให้เชื้อราจะกระจายลุกลาม และยิ่งทำอันตรายเนื้อเยื่อของปลากัด และอาจรุนแรงถึงขนาดทำให้ปลากัดตายได้

วิธีรักษาโรคเชื้อราปลากัด
การรักษาโรคเชื้อราปลากัด ใช้เกลือแกง โดยจะค่อย ๆ ใส่เกลือลงในน้ำ ปลากัดจะสามารถทนความเข้มข้นของเกลือได้ โดยค่อยๆ เติมสารละลายเกลือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 4.5 ลิตร ทุก 2 - 3 ชั่วโมง จนกระทั่งเติมจนครบ 5 ช้อนชาพอดี จึงหยุดเพิ่มความเข้มข้นของเกลือแกงลงในน้ำ โดยแช่ปลากัดที่ป่วยทิ้งไว้ในน้ำเกลือ ประมาณ 1-2 วัน

โรคเชื้อราที่ปากปลากัด

โรคเชื้อราที่ปากปลากัด เป็นโรคปลากัดที่มักจะเกิดขึ้นที่ปากของปลากัด แต่สาเหตุของโรคนี้ไม่ใช่เชื้อราแต่เป็นเชื้อแบคทีเรีย โรคนี้จะกระจายไปอย่างรวดเร็ว จะเห็นเป็นเส้นสีขาวและสีดำ ขึ้นรอบริมฝีปากปลากัด มีลักษณะเหมือนมีเส้นใยเกาะอยู่ ทำให้ปลากัดไม่ยอมกินอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากปลากัดมีอาการเจ็บปวดปากมาก

วิธีรักษาโรคเชื้อราที่ปากปลากัด
รักษาโรคเชื้อราที่ปากปลากัด ใช้ยาเพนนิซิลิน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4.5 ลิตร ยานี้จะไม่เป็นอันตรายต่อปลากัด และสะดวกต่อการใช้ยา ถ้าอาการป่วยของปลากัดยังไม่หาย ให้เพิ่มอัตราการใช้ยา เป็น 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4.5 ลิตร ปลากัดจะหายป่วยได้ภายในเวลาไม่กี่วัน

โรคปลากัด ครีบเปื่อย/หางเปื่อย

โรคครีบเปื่อย/หางเปื่อย ที่พบในปลากัดนี้ จะแสดงอาการป่วยให้เห็นได้ชัดเจน คือจะสังเกตเห็นว่าครีบและหางปลากัดจะเปื่อยขาดยุ่ยๆ และอาจลุกลามไปทำลายเนื้อเยื่อบริเวณโคนหางปลากัดได้

วิธีรักษาโรคปลากัด ครีบเปื่อย/หางเปื่อย
การรักษาโรคปลากัด ครีบเปื่อย/หางเปื่อย ทำได้โดยใช้ยาเพนนิซิลิน 1.5 กรัม ต่อน้ำ 1 แกลลอน

โรคปลากัด ตาโปน

โรคปลากัดตาโปน โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากแบคทีเรีย หรืออาจเกิดจากภายหลังเมื่อปลากัดได้รับบาดแผลหรือเป็นรอยถลอกบริเวณใกล้ ๆ นัยน์ตา ตาจะปูดโปนบวมขึ้นมาและมีลูกตาโปนกว่าปกติมาก จนเห็นได้ชัดเจน

วิธีการรักษาโรคปลากัดตาโปน
การรักษาโรคปลากัดตาโปน นำใบหูกวางแห้ง 1 ใบ แช่น้ำ 2 ลิตร นำปลาที่ป่วยลงไปแช่ ประมาณ 2 - 3 วัน (ยางของใบหูกวางที่ละลายอยู่ในน้ำจะช่วยรักษาแผลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน)

โรคกระเพาะลม ปลากัดท้องบวม ท้องโต

ลักษณะอาการของปลากัดที่เป็นโรคกระเพาะลม จะสังเกตเห็นได้จากปลากัดจะมีท้องจะบวมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ปลากัดตัวเมียดูเหมือนจะมีไข่ในท้อง โรคนี้จะทำให้ปลากัดเสียการทรงตัว อาจจะว่ายน้ำหงายท้องลอยตามผิวน้ำ หรืออาจจมอยู่ที่พื้นราบ ไม่สามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้

วิธีการรักษาโรคกระเพาะลมปลากัด ท้องโต ท้องบวม
การรักษาโรคกระเพาะลมปลากัด ปลากัดท้องโต ปลากัดท้องบวม ให้ลดระดับน้ำที่เลี้ยงปลากัด โดยใส่น้ำแค่พอท่วมหลังปลากัดเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ปลากัดทรงตัวอยู่ได้ และสามารถขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำได้ ใส่ยาแก้อักเสบประมาณ 4 แคปซูนลงในน้ำ ปลากัดที่ยังมีอาการไม่มากนัก สามารถรักษาให้หายได้ แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานจนมีอาการหนักแล้ว ปลากัดท้องใหญ่มาก ๆ แล้ว จะไม่สามารถทำการรักษาได้

โรคปลากัดสีซีด ลำตัวสีซีด

โรคปลากัด สีลำตัวซีดนี้ เป็นโรคที่เกิดจากมีสัตว์เซลล์เดียวมาเกาะที่ตัวปลากัด ทำให้ปลากัดจำเป็นต้องมีการขับเมือกออกมาจากตัวมากผิดปกติ วิธีสังเกตจะพบว่าอยู่ๆ ปลากัดจะมีสีซีดลง

วิธีรักษาโรคปลากัด สีลำตัวซีด
การรักษาโรคปลากัด สีลำตัวซีด ให้รีบเปลี่ยนถ่ายน้ำให้สะอาด ใส่เกลือแกง 4 ช้อนชา ต่อน้ำ 2 ลิตร

โรคปรสิตปลากัด (พยาธิใบไม้และหนอนสมอ)

สำหรับพยาธิใบไม้มักจะพบตามตัว ตามเหงือก ครีบปลากัด และเห็นว่ามีลักษณะคล้ายเส้นด้ายสั้น ๆ ส่วนหนอนสมอหรือปลิงใสจะเป็นเส้นด้ายสั้น ๆ เกาะอยู่ตามผิวตัวปลากัด และมักจะเป็นส่วนของถุงไข่ที่แบ่งเป็น 2 อันอย่างชัดเจน จะพบเกาะอยู่ตามผิวตัวปลากัด ทำให้ปลาแคระแกรน และอาจทำให้ปลากัดตายได้ในที่สุด
วิธีการรักษาโรคปรสิตปลากัด (พยาธิใบไม้และหนอนสมอ)
  1. ใช้ด่างทับทิมละลายในน้ำให้มีความเข้มข้น 2 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร ปกติปลากัดจะสามารถทนได้ในน้ำที่มีความเข้มข้นเป็น 2 เท่า
  2. ใช้กรคน้ำส้มเข้มข้น 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ปลากัดไว้นาน 20 วินาที และจะทำซ้ำหลังจากนั้น 3 วันก็ได้
  3. ใช้ฟอร์มาลิน 20 หยดต่อน้ำ 4.5 ลิตร แช่ปลากัดไว้นาน 5-10 นาที

โรคปลากัดตัวสั่น ตัวส่าย

โรคปลากัดตัวสั่น ตัวส่าย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าโรคดุกดิก โรคนี้มีสาเหตุไม่แน่นอน อาจเนื่องมาจากน้ำที่เลี้ยงสกปรกเกินไป หรือเกิดจากในน้ำมีสารพิษ เช่น คลอรีนมากเกินไปก็ได้ ดังนั้น หากสังเกตพบว่าปลากัดเริ่มมีอาการตัวสั่น ตัวส่าย วิธีการรักษาต้องรีบเปลี่ยนน้ำใหม่ให้ปลากัดทันที โดยใช้น้ำสะอาดที่ปราศจากคลอรีน โดยใส่เกลือแกงในปริมาณ 2 ช้อนชา ต่อน้ำ 1 ลิตร

สำหรับโรคปลากัด และวิธีการรักษาอาการปลากัดป่วย ที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงได้พบเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง อย่างไรก็ดี การที่จะสามารถวินิจฉัยโรคปลากัดได้อย่างแน่นอน รวมทั้งการใช้ยารักษาโรคปลากัดที่อาจมีความแตกต่างทั้งในด้านปริมาณและการใช้นั้น เป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงปลากัดจะเรียนรู้ ทดลอง สังเกต และต้องมีประสบการณ์มากพอสมควร เพื่อให้สามารถเลี้ยงปลากัดได้ตามปกติ เพื่อให้การทำธุรกิจฟาร์มเพาะเลี้ยงปลากัดให้ได้กำไร และประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลากัดตามเป้าหมายที่ตั้งใจไว้

ที่มา : การพัฒนาชุดฝึกอบรม เรื่อง การเพาะเลี้ยงปลากัด (Betta splendens) สำหรับผู้ร่วมโครงการ การเพาะเลี้ยงปลากัดด้วยตนเอง ของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดฉะเชิงเทรา โดย นงลักษณ์ วาสะศิริ, สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยบูรพา

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

แนะนำหนังสือ ออกใหม่!

คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

*ดูราคาหนังสือ ... คลิกที่ภาพ!
คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

รวบรวมพันธุ์ปลาสวยงามมากกว่า 200 ชนิดพร้อมภาพสวยๆ และรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด รวมถึงเทคนิคการเลี้ยงดูแลปลาสวยงาม และอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามที่สำคัญ นับเป็นหนังสือคู่มือปลาสวยงามที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ...