Skip to main content

วิธีเพาะปลากัด ให้ได้เยอะๆ ทำยังไง? แบบง่าย ได้ผลจริง..

5star

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

เทคนิค เคล็ด(ไม่)ลับ วิธีเพาะปลากัดให้ได้เยอะๆ ลูกปลากัดรอดเยอะ แบบง่าย ได้ผล การคัดเลือกปลากัดตัวผู้/ตัวเมีย การเทียบคู่ปลากัด วิธีผสมพันธุ์ปลากัด ..

วิธีเพาะปลากัดให้ได้เยอะๆ ลูกปลารอดเยอะ แบบง่ายๆแต่ได้ผล จะต้องเกิดจากความพร้อมหลายๆด้าน ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือ การคัดเลือกพ่อแม่ปลากัดที่สมบูรณ์แข็งแรงและมีความพร้อมในการผสมพันธุ์ เพราะหากพ่อแม่ปลายังไม่พร้อม แม้ว่าจะเพาะได้ก็จริง แต่จะได้น้อยกว่า การใช้พ่อแม่ปลากัดที่พร้อมกว่า ไหนๆ ก็ต้องเพาะปลากัดแล้ว ต้องเสียเวลาดูแลเหมือนกันอยู่แล้ว ก็ทำให้ดีไปเลยดีกว่า กรณีนี้รวมไปถึงการเพาะปลากัดสวยงามทุกสายพันธุ์ไปเลยนะ ถ้าเราเลือกได้แล้วว่า เราชอบปลากัดพันธุ์นี้ หรืออยากเพาะปลากัดพันธุ์นี้ ก็ต้องเริ่มต้นจากการคัดเลือกพ่อแม่ปลากัดที่ดี

การคัดเลือกพ่อและแม่ปลากัดที่สมบูรณ์

การคัดเลือกพ่อแม่ปลากัดที่สมบูรณ์ คือควรเป็นปลากัดที่โตเต็มวัย (อย่างน้อยควรมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป) มีความสมบูรณ์ แข็งแรง โครงสร้างดี ครีบทุกครีบครบสมบูรณ์สวยงาม ไม่บิดเบี้ยวคดงอ ไม่ขาดแหว่ง เกล็ดมีความเงาวับ ปลามีความคึกคัก ว่ายน้ำดี ทรงตัวดี ไม่มีร่องรอยการป่วยเป็นโรค ปลาไม่ซึม โดยเฉพาะปลากัดตัวผู้ ถ้ามีความพร้อมเราจะเห็นว่า พ่อปลากัดจะเริ่มก่อหวอดให้เห็น ส่วนปลาตัวเมียถ้ามีความพร้อม เราจะสังเกตเห็นว่า ท้องจะอูมป่องๆ เริ่มเห็นจุดสีขาวนูนใต้ท้อง คล้ายไข่ เรียกว่า จุดไข่นำ ให้เห็นได้อย่างชัดเจน ยิ่งถ้าใช้ไฟฉายส่องจะมองเห็นไข่ในท้องปลากัดตัวเมียอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ หากต้องการลูกปลากัดที่มีสีสันตามต้องการ ก็ควรเลือกพ่อแม่ปลากัด ที่มีสีสัน รูปทรงโครงสร้าง ลักษณะเด่นตามที่เราต้องการด้วย (ซึ่งเรื่องพันธุกรรมนี้ ต้องพูดกันอีกยาว เอาไว้โพสอื่นละกัน) เช่นในกรณีนี้ หากต้องการเพาะขยายพันธุ์ปลากัดสวยงาม พันธุ์หม้อฮาฟ สีแดงล้วน เราก็ควรเลือกพ่อแม่ปลากัดที่เป็นพันธุ์หม้อฮาฟ สีแดงล้วน สีเข้มๆ รูปทรงโครงสร้างลักษณะที่ดี เพื่อให้ถ่ายทอดไปยังลูกปลากัดให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ลูกปลากัดที่มีลักษณะและสีสันตามความต้องการให้มากที่สุด

ขนาดของพ่อแม่ปลากัด ก็เป็นสิ่งสำคัญ ขนาดของปลากัดตัวผู้และปลากัดตัวเมีย ควรมีขนาดใกล้เคียงกัน หรือ ตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้เล็กน้อย เล็กมากเกินไปก็ไม่ดี อาจจะบอบช้ำมาก หรือ หากปลากัดตัวเมียตัวใหญ่กว่าปลากัดตัวผู้ บางกรณีปลากัดตัวเมียก็จะไม่ยอมให้ปลากัดตัวผู้รัดผสมพันธุ์ หรือกัดปลากัดตัวผู้จนบอบช้ำหรือตายเลยก็มี (แต่ไม่ใช่ทุกตัวนะ ปลากัดตัวเมียบางตัว แม้จะตัวใหญ่กว่าปลากัดตัวผู้ บางตัวก็ยอมให้ตัวผู้รัดผสมพันธุ์ได้นะ)

การเตรียมภาชนะสำหรับเพาะปลากัด

ภาชนะสำหรับการเพาะปลากัด จะเป็นอะไรก็ได้ที่ใส่น้ำได้ เช่น อ่าง ถังน้ำ กะละมัง ลังโฟม หรือตู้ปลาก็ได้ มีหน้ากว้างประมาณ 1 ฟุต กำลังดี ใส่น้ำที่ระดับความลึก ประมาณ 4 นิ้ว หรือประมาณ 10 เซนติเมตร กำลังดี คือมีอัตรารอดสูงสุด หรือไม่ควรให้น้ำลึกเกิน 1 คืบ (เคยเพาะปลากัด โดยใช้น้ำลึกประมาณ 1 ฟุต พ่อปลากัดก็สามารถเลี้ยงลูกให้รอดได้นะ แต่อัตรารอดน้อยกว่าใช้น้ำตื้นๆ แต่กว้างๆ)

น้ำที่ใช้ในการผสมพันธุ์ปลากัด หากใช้น้ำปะปา ควรใช้น้ำปะปาที่พักทิ้งไว้แล้วอย่างน้อย 2 วัน ถ้าให้ดีควรผสมน้ำหมักใบหูกวางลงไปด้วย ให้น้ำมีสีน้ำชา ใส่เกลือนิดหน่อยสักหยิบมือ และควรจัดสิ่งแวดล้อมในบ่อเพาะปลากัดให้เหมาะสม โดยควรใส่พืชน้ำ ใบไม้ ฟาง ให้รกๆ หน่อย เพื่อให้พ่อแม่ปลากัดรู้สึกปลอดภัย ไม่เครียด มีที่หลบซ่อนของปลากัดตัวเมีย และเพื่อให้พ่อปลากัดได้ก่อหวอดสร้างรังสำหรับฟักไข่ลูกปลากัด โดยควรวางไว้ในบริเวณที่เงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวน แสงสว่างไม่มากเกินไป ควรมีวัสดุมาปิดบ่อเพาะปลากัดไว้ด้วยก็ยิ่งดี เพื่อบังลม บังแสงสว่าง และป้องกันปลากัดกระโดดออกได้

การเทียบคู่ปลากัด

เมื่อเตรียมทุกอย่างพร้อมแล้ว ก็เข้าสู่ขั้นตอนการเทียบคู่ปลากัด โดยนำปลากัดตัวผู้ที่คัดเลือกไว้แล้วว่าจะให้เป็นพ่อปลากัด นำมาใส่ไว้ในภาชนะเพาะพันธุ์ และนำปลากัดตัวเมียที่คัดเลือกไว้ให้เป็นแม่ปลากัดมาใส่ไว้ด้วย โดยใช้ขวดพาสติกใสที่เจาะก้น ครอบตัวแม่ปลากัดเอาไว้มุมใดมุมหนึ่งของบ่อเพาะ เพือให้พ่อแม่ปลากัดมองเห็นกันได้ แต่กัดกันไม่ได้ เพื่อให้พ่อแม่ปลากัดได้สร้างความคุ้นเคยกัน และเป็นการกระตุ้นให้พ่อปลากัดก่อหวอดสร้างรังสำหรับวางไข่ และเป็นกระตุ้นแม่ปลากัดให้ไข่สุกพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เร็วขึ้น

ถ้าเปรียบขั้นตอนนี้กับมนุษย์ จะคล้ายกับการทำความรู้จักกัน ศึกษาดูใจกันของคนสองคน นั่นคือ พ่อปลากัดจะดูว่าแม่ปลากัดสมบูรณ์แข็งแรง สวยงาม เหมาะจะเป็นแม่ของลูกๆ ได้ไหม ส่วนแม่ปลากัด ก็ต้องศึกษาดูก่อนว่า พ่อปลากัด สมบูรณ์แข็งแรง สีสันสดใสสวยงาม เหมาะสมคู่ควรมากพอที่จะเป็นพ่อของลูกได้หรือไม่ นั่นเอง (มีบางกรณี ที่พ่อแม่ปลา ไม่ชอบกัน ไม่ถูกใจกัน ปลากัดตัวผู้ก็จะไม่ยอมสร้างหวอด หรือ ปลากัดตัวเมียก็ไม่ยอมให้รัดไข่ หรือหวงไข่ หรือ ถ้ายอมให้รัดผสมพันธุ์ได้ก็จะกินไข่จนหมด)

ตามสัญชาตญาณของพ่อปลากัด จะประเมินจากปริมาณไข่ในท้องแม่ปลากัด หากดูแล้วมีไข่มาก พ่อปลากัดก็จะก่อหวอด สร้างรังรักไว้ให้มากพอสำหรับใช้ฟักไข่ ยิ่งถ้าพ่อปลากัดสร้างหวอดมีจำนวนมาก กว้างและหนา ซ้อนกันหลายชั้น ให้เพียงพอสำหรับฟักไข่และเป็นรังอาศัย ดูแลลูกๆ ยิ่งบ่งบอกถึงความพร้อมในการดูแลลูกปลากัด และมีโอกาสที่จะเพาะปลากัดได้เยอะๆ เพราะพ่อปลากัดจะสร้างหวอดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณไข่ของแม่ปลานั่นเอง

การเทียบคู่ปลากัด ต้องปล่อยเทียบคู่ไว้นานแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อแม่ปลากัด หากเริ่มต้นจากแม่ปลากัดที่มีไข่พร้อมเต็มที่ ท้องอูมมากแล้ว และพ่อปลากัดก็สร้างหวอดพร้อมไว้รอแล้ว ก็อาจจะเทียบคู่ปลากัด แค่ 1 วันก็สามารถปล่อยปลากัดให้ผสมพันธุ์กันได้แล้ว แต่ถ้าพ่อแม่ปลากัดยังไม่พร้อม พ่อปลายังไม่สร้างหวอด แม่ปลายังมีไข่ในท้องไม่มาก ก็สามารถปล่อยเทียบไว้ได้หลายวัน เป็นสัปดาห์ หรือบางคู่เป็นเดือนก็มี ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้เพาะปลากัดต้องสังเกตเอาเอง คือสรุปว่าเทียบกี่วัน ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อแม่ปลากัด ถ้าพร้อมเมื่อไหร่ก็ปล่อยผสมพันธุ์ได้เมื่อนั้น

ในระหว่างการเทียบปลากัดนี้ เราจะต้องให้อาหารอย่างดี ให้สมบูรณ์เต็มที่ ถ้าให้อาหารสดหรืออาหารโปรตีนสูงยิ่งดี แต่ต้องระวังเรื่องคุณภาพของน้ำด้วย ระวังอย่าให้น้ำเสีย จึงควรหมั่นตรวจสอบของเสียในบ่อเพาะปลากัดด้วย อย่าให้หมักหมมของเสียมากเกินไป เพราะอาจส่งผลต่อลูกปลากัดได้

เมื่อสังเกตเห็นว่า พ่อแม่ปลากัดพร้อมแล้ว? คือ พ่อปลากัดขยันสร้างหวอด และมีพฤติกรรมเหมือนว่า พยายามว่ายน้ำมาเชื้อเชิญปลากัดตัวเมียให้ตามไปที่ใต้หวอด สำหรับแม่ปลากัด สังเกตที่ท้องอูมเป่งใกล้คลอด (ถ้าเป็นตัวเมียปลากัดป่า จะมีขึ้นลายบั้งๆที่ข้างลำตัวชัดเจน) หันหน้าเข้าหาตัวผู้ ก้มหัวทิ่มๆ ต่ำลง แสดงว่าพร้อมแล้ว การผสมพันธุ์ปลากัด

เมื่อพ่อแม่ปลากัดพร้อมผสมพันธุ์แล้ว ก็ทำการเปิดขวดพลาสติกที่ครอบตัวเมียไว้ ปล่อยตัวเมียออกไปหาตัวผู้ได้ตามใจชอบ เมื่อปล่อยตัวเมียแล้ว ก็ควรให้อาหารพ่อแม่ปลากัดให้กินจนอิ่มให้เต็มที่ ถ้ามีไรแดง ก็ใส่ลงไปด้วยสักหน่อย ครึ่งช้อนชา ก็ยิ่งดี แล้วปิดภาชนะเพาะพันธุ์ให้เรียบร้อย เพื่อบังลม บังแสง และป้องกันปลากัดกระโดด ซึ่งในขั้นตอนต่อจากนี้ไป ไม่ควรไปแอบดูบ่อย หรือไปรบกวนบ่อย เพราะปลากัดจะมีสัญชาตญาณความหวาดระแวง ป้องกันภัย หากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย หรือสถานการณ์ไม่เหมาะสมที่จะผสมพันธุ์ ฟักไข่ เลี้ยงลูกปลา ปลากัดก็จะกินไข่ทั้งหมด

ปิดฝาไว้ อย่ารบกวน! อยากรู้จัง พ่อแม่ปลากัดทำอะไรกันบ้าง? 

สำหรับนักเพาะปลากัดคงรู้กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะตามฟาร์มปลากัดที่เพาะพันธุ์ปลากัดเป็นอาชีพ ก็จะทิ้งไว้เลยประมาณ 2 วันจึงมาเปิดดูว่า มีไข่ปลาอยู่ในหวอดแล้วหรือยัง? แต่เชื่อว่า สำหรับมือใหม่หัดเพาะปลากัดทุกคนต้องอยากรู้ แน่ๆ (เคยเป็นมือใหม่มาก่อน จึงเข้าใจ) ซึ่งขอเล่าเป็นแนวทางแบบคร่าวๆนะ รายละเอียดคงต้องลองไปแอบดูกันเอาเองนะ (อ้าว ก็ไหนบอกว่า ห้ามแอบดู 555) จริงๆแล้ว การผสมพันธุ์ของปลากัดจะมีพฤติกรรมคล้ายๆกัน สามารถหาดูคลิปวิดีโอ youtube ได้ ลองไปค้นดูนะ

เอาเป็นว่า ถ้าสามารถหาวิธีที่จะแอบดูพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของปลากัดได้ จะเห็นว่า ในช่วงเริ่มแรก ทั้งพ่อแม่ปลากัดจะว่ายวนไปวนมาใกล้ๆกัน หากพ่อแม่ปลากัดยังไม่พร้อมเต็มที่ ปลากัดตัวผู้จะไล่กัดปลากัดตัวเมีย จนกว่าจะพร้อมทั้งคู่ (ช่วงนี้ มือใหม่อาจทำใจไม่ได้ เพราะสงสารปลากัดตัวเมีย กลัวจะโดนไล่กัดจนตายซะก่อน แต่จะบอกว่าไม่ต้องกังวลนะ แค่บอบช้ำ แต่เค้าจะไม่กัดกันจนตาย ถ้าพ่อแม่ปลาพร้อมแล้ว เค้าจะกลับมารักกัน กอดรัดกันแน่นอน) แต่ก็มีบางกรณีที่ พ่อแม่ปลากัดพร้อมเต็มที่ เมื่อปล่อยปลากัดตัวเมียปุ๊บ ก็ว่ายเข้าไปหาปลากัดตัวผู้ที่ใต้หวอด แล้วก็กอดรัดผสมพันธุ์กันเลยก็มีเช่นกัน

บางทีการที่พ่อแม่ปลากัดกันนั้น บางกรณีสังเกตว่า ถ้าปลากัดตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าหรือตัวเท่าๆ กับ ปลากัดตัวผู้ ก็จะมีการปะทะ ประลองกำลังกัน ต่อสู้กัน ประมาณว่า ถ้าปลากัดตัวผู้ สามารถสู้ปลากัดตัวเมียได้ จนปลากัดตัวเมียยอมแพ้ ว่ายน้ำหนี ก็แสดงว่า ปลากัดตัวผู้ สมบูรณ์ แข็งแรง เหมาะสมที่จะดูแล ปกป้องและพร้อมที่จะเป็นพ่อของลูกปลากัดได้ ถ้ากรณีที่ปลากัดตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่า แล้วต่อสู้ไม่ไหว ปลากัดตัวเมียก็จะไม่ยอมผสมพันธุ์ด้วย ก็อาจโดนปลากัดตัวเมียไล่กัดจน ปลากัดตัวผู้ บอบช้ำหรืออาจตายก็มี บ้างก็เชื่อกันว่า การที่ปลากัดตัวผู้ไล่กัดปลากัดตัวเมีย เพื่อเป็นการบ่งบอกว่า ฉันแข็งแรง พร้อมที่จะปกป้องลูกๆ และเป็นการกระตุ้นให้ไข่ตัวเมียที่อยู่ในท้อง เข้าสู่สภาวะไข่สุกที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เร็วยิ่งขึ้น

เมื่อพ่อแม่ปลากัดพร้อมแล้วทั้งสองฝ่าย ถูกใจกัน ยอมรับกันและกัน เมื่อพ่อปลากัดว่ายเข้ามาหา แม่ปลากัดจะก้มหัวต่ำลง ส่ายตัวช้าๆ ว่ายตามพ่อปลากัดไปที่ใต้หวอด แล้วซุกหัวเข้าไปที่ลำตัวของพ่อปลากัด ก็จะเริ่มกอดรักกัน ในลักษณะที่ให้ช่องท้องไข่ตัวเมีย ตรงกับ ช่องท้องตัวผู้พอดี เพื่อปล่อยน้ำเชื้ออสุจิออกมาผสมพันธุ์กับไข่ ที่ปล่อยออกมาพร้อมๆกัน จึงเป็นการปฎิสนธิที่เกิดขึ้นภายนอก การรัดกันแบบนี้ ในช่วงแรกๆ อาจจะรัดกันแล้ว ยังไม่มีไข่ออกมา ทั้งพ่อแม่ปลากัดก็จะพยายามรัดกันซ้ำๆ แบบนี้อีกหลายครั้งจนกว่าจะมีไข่ออกมา

เมื่อมีไข่ออกมาจากท้องของแม่ปลากัด ก็จะได้รับการผสมกับน้ำเชื้ออสุจิที่อยู่ในน้ำ แล้วไข่ก็ร่วงหล่นสู่พื้น พ่อปลากัดก็จะรีบว่ายน้ำไปเก็บไข่ โดยอมไข่ไว้ในปาก แล้วนำไปพ่นใส่หวอด ในขณะที่ตัวเมียจะนอนลอยตัวนิ่งๆ ปล่อยให้ไข่หลุดออกมาจากท้อง บางกรณีก็จะพบว่า แม่ปลากัดก็ช่วยเก็บไข่ อมใส่ปากไปพ่นใส่ใต้หวอดด้วยเช่นกัน บางคนบอกว่า แม่ปลากัดกินไข่ตัวเอง แต่เท่าที่สังเกตกลับพบว่า แม่ปลากัดช่วยอมไข่เก็บไปพ่นใส่ใต้หวอด ซึ่งพ่อแม่ปลากัดจะทำซ้ำๆ วนๆ อยู่แบบนี้ จนกว่าแม่ปลากัดจะไข่ออกมาจนหมดท้องแล้ว รัดแล้วไม่มีไข่ออกมาแล้ว ก็ถือว่า หมดหน้าที่ของแม่ปลากัดแล้ว ต่อไปจะเป็นหน้าที่ของพ่อปลากัดเท่านั้น ที่จะเฝ้าดูแลไข่ จนไข่ฟักเป็นตัว และดูแลลูกปลากัดจนรอดปลอดภัยและเติบโตต่อไป

รวมๆแล้ว การผสมพันธุ์ปลากัด นับตั้งแต่เริ่มปล่อยปลากัดตัวเมียให้อยู่ร่วมกับปลากัดตัวผู้ ใช้ระยะเวลาทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 2 วัน เมื่อเห็นว่า พ่อปลากัดเริ่มไล่กัดแม่ปลากัด เพราะไข่หมดแล้ว เราก็หาวิธียังไงก็ได้ พยายามแยกปลากัดตัวเมียออกมา โดยพยายามรบกวนพ่อปลากัดให้น้อยที่สุด และที่ต้องระวังที่สุดคือระวังไข่ที่อยู่ในหวอด ระวังหวอดแตก ไข่กระจาย ระวังพ่อปลากัดตกใจ เพราะหากขั้นตอนการแยกแม่ปลาออกนี้ หากไม่ระมัดระวัง อาจทำให้พ่อปลาตื่นตกใจ พ่อปลากัดก็อาจจะกินไข่จนหมดได้เลย โดยส่วนใหญ่จึงควรย้ายแม่ปลาออกมาในเวลากลางคืน พ่อแม่ปลากำลังนอนหลับ แม่ปลากัดมักจะนอนที่ผิวน้ำ ก็ใช้ไฟฉายส่องแล้วรีบตักแม่ปลากัดออกมาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่พ่อปลากัดกำลังนอนหลับพักผ่อนอยู่นั่นเอง

ขั้นตอนต่อจากนี้ไป ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการอนุบาลลูกปลากัด ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนที่สุด ถือว่ายากที่สุด เพราะว่าการเพาะปลากัดให้ได้เยอะๆ ให้ลูกปลากัดรอดเยอะๆ นั้น จะได้ลูกปลากัดมากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการอนุบาลลูกปลากัดนี้แหละ ซึ่งจะมาเล่าให้ฟังต่อไป

*ดูราคา อาหารปลากัด ยี่ห้อต่างๆ ราคาถูก ...
👉 ดูเพิ่มเติมที่ร้านค้า

แนะนำหนังสือ ออกใหม่!

คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

*ดูราคาหนังสือ ... คลิกที่ภาพ!
คู่มือเลี้ยงปลาสวยงาม Aquarium Fish Handbook

รวบรวมพันธุ์ปลาสวยงามมากกว่า 200 ชนิดพร้อมภาพสวยๆ และรายละเอียดของปลาแต่ละชนิด รวมถึงเทคนิคการเลี้ยงดูแลปลาสวยงาม และอุปกรณ์เลี้ยงปลาสวยงามที่สำคัญ นับเป็นหนังสือคู่มือปลาสวยงามที่สมบูรณ์ที่สุดในขณะนี้ ...